เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 10. จุนทสูตร
อกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้แลที่บุคคลประกอบแล้ว เมื่อลุกขึ้นจากที่นอน
แต่เช้าตรู่ แม้จะจับต้องแผ่นดินก็ตาม ไม่จับต้องแผ่นดินก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่
ได้เลย แม้จะจับต้องโคมัยสดก็ตาม ไม่จับต้องโคมัยสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้
แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ไม่จับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้
แม้จะบำเรอไฟก็ตาม ไม่บำเรอไฟก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้ แม้จะประคองอัญชลี
นอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ก็เป็นผู้
สะอาดไม่ได้ แม้จะลงน้ำวันละ 3 ครั้งก็ตาม ไม่ลงน้ำวันละ 3 ครั้งก็ตาม ก็เป็น
ผู้สะอาดไม่ได้อยู่นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้เป็น
ธรรมไม่สะอาด และเป็นเหตุก่อให้เกิดความไม่สะอาด
จุนทะ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ จึงปรากฏมี
ทั้งนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น
จุนทะ ความสะอาดทางกาย 3 อย่าง ความสะอาดทางวาจา 4 อย่าง ความ
สะอาดทางใจ 3 อย่าง
ความสะอาดทางกาย 3 อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
2. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วย
จิตเป็นเหตุขโมย
3. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วง
ในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ใน
ปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ใน
ปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดย
ที่สุดแม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความสะอาดทางกาย 3 อย่าง เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :322 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 10. จุนทสูตร
ความสะอาดทางวาจา 4 อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
หมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้าง
เป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า
‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า
‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง
เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
2. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้
เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน
ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์
ความสามัคคี
3. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
4. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่
กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
ความสะอาดทางวาจา 4 อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ความสะอาดทางใจ 3 อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
2. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่
มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :323 }